วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่3

บันทึกอนุทิน
วิชา การจัดประสบการณ์ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
อาจารย์ผู้สอน อาจารย์กฤตธ์ตฤณน์ ตุ๊หมาด
วัน/เดือน/ปี  28 มกราคม พ.ศ.2558
ครั้งที่ 3 กลุ่มเรียน 102
เวลาเข้าเรียน 08:30 - 10:10 น. ห้อง 442 และเวลา 12:20 - 15:00 น. ห้อง 223

     เนื้อหาที่ได้เรียนในวันนี้ มีดังนี้

หลักการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
ความสำคัญ
     ศิลปะ เป็นพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพราะศิลปะ ช่วยให้เด็กปฐมวัยมีประสบการณ์ที่หลากหลาย
          -ประสบการณ์ด้านการสำรวจ ตรวจสอบ (สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว)
          -ประสบการณ์ด้านวัสดุ-อุปกรณ์ (เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ)
          -ประสบการณ์ทางด้านความรู้สึก และการใช้ประสาทสัมผัส
     ประสบการณ์เหล่านี้เป็นประสบการณ์ตรง ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เผชิญกับความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช สถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ

จุดมุ่งหมายในการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย
  • การสอนศิลปะเด็ก ไม่ใช่การสอนให้เด็กวาดรูปเก่ง
  • การสอนศิลปะเด็ก เป็นการปลูกฝังนิสัยอันดีงาม ละเอียดอ่อน และให้มีความพร้อมสำหรับการศึกษาในระดับสูงขึ้นต่อไป
  • การสอนศิลปะเด็กจึงมีจุดมุ่งหมาย เพื่อ 
          ๑. ฝึกทักษะการใช้มือและเตรียมความพร้อม ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕
          ๒. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ + ความสามารถของเด็กแต่ละคน
          ๓. พัฒนาทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและบุคลิกภาพ
          ๔. ปลูกฝังค่านิยม เจตคติ และคุณสมบัติที่ดีของศิลปะ และวัฒนธรรมไทย
          ๕. ฝึกให้เด็กได้เริ่มต้นเรียนรู้การใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำงานศิลปะตลอดจนรู้จักเก็บรักษา และทำความสะอาดอย่างถูกต้อง
          ๖. ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม
          ๗. เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกอย่างอิสระ ผ่อนคลาย สนุกสนาน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
          ๘. นำประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

บทบาทของครูศิลปะ
     ครู คือบุคคลสำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนศิลปะ
          - เป็นผู้สร้างบรรยากาศ ( ในการประดิษฐ์ คิดค้น และผลิตผลงาน)
          - เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน (พูดคุย ชักจูง เร้าความสนใจ ให้กำลังใจ)
          - เป็นผู้ดูแลเด็กให้สร้างสรรค์งาน ( ให้ความรัก ความอบอุ่น เป็นกันเอง และคอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ)
          - เป็นต้นแบบที่ดี (สาธิตวิธีการที่ถูกต้อง ไม่เผด็จการ ส่งเสริมการกล้าคิด กล้าตัดสินใจ)
          - เป็นผู้อำนวยความสะดวก (จัดเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์ รูปแบบศิลปะหลากหลาย)

บทบาทของครู ( เลิศ อานันทะ : 2533 )
          ๑. สอนด้วยใจรัก และเอาใจใส่
          ๒. ยอมรับความสามารถเด็กแต่ละคน
          ๓. เปิดโอกาสและให้อิสระเด็กในการสร้างผลงาน ไม่รีบร้อนแก้ไขงาน
          ๔. ไม่แทรกแซงความคิดเด็ก หรือแก้ปัญหาแทนเด็ก แต่ส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออก
          ๕. กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทายให้เด็กแสดงออกอย่างเต็มความสามารถ
          ๖. มีการวางแผน + จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ล่วงหน้าพร้อมทำกิจกรรม

ข้อควรคำนึงในการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย
          ๑. หลีกเลี่ยงการให้แบบ การวาดภาพตามรอยปะ หรือใช้สมุดภาพระบายสี เพราะทำให้เด็กสูญเสียความคิดสร้างสรรค์
          ๒. ต้องช่วยพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองให้แก่เด็ก ให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ ใช้คำพูดทางบวก เช่น หนูทำได้...ลองทำดูสิ
          ๓. ไม่บีบบังคับหรือคาดคั้นเอาความหมายจากภาพ ให้เด็กพูดคุยอย่างสบายใจ และเข้าใจในผลงานของตนเอง
          ๔. ไม่แก้ไขหรือช่วยเด็กทำผลงาน เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์และผู้ช่วยเหลือ
          ๕. ไม่วิจารณ์งานศิลปะเด็ก และมีวิธีการประเมินงานที่เหมาะสม
          ๖. มีส่วนในการช่วยให้ผู้ปกครองเห็นคุณค่าของงานเด็ก
          ๗. มีส่วนช่วยขยายประสบการณ์ทางศิลปะชองเด็ก ไม่อยู่แต่ในห้องเรียน ควรพาเด็กออกสำรวจ สัมผัส สังเกต ทัศนศึกษา เยี่ยมชมงานศิลปะตามแหล่งต่างๆ

การเตรียมการสำหรับการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย
  • การสร้างข้อตกลง และระเบียบการใช้วัสดุ อุปกรณ์
  • การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ให้เพียงพอ
  • การจัดวางวัสดุ อุปกรณ์ให้สะดวกแก่การใช้งาน
  • การจัดเตรียมเครื่องมือรักษาความสะอาด (ฟองน้ำ ผ้าเช็ดมือ ถังขยะ ถังน้ำ)
  • การจัดเตรียมพื้นที่ในการทำงานอย่างเหมาะสม และเพียงพอ
  • การจัดเก็บผลงาน / การจัดสถานที่แสดงผลงาน
ลำดับขั้นตอนการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย
     ขั้นตอนการสอนศิลปะ
          ๑. เลือกเรื่องที่จะสอน
          ๒ .กำหนดจุดมุ่งหมายในการสอน
          ๓. เตรียมการก่อนสอน
                    - เตรียมแผนการสอน - เรื่อง จุดประสงค์ เนื้อหา ระยะเวลา สื่อการสอน จำนวนเด็ก จำนวนกิจกรรม สถานที่ 
                    - เตรียมอุปกรณ์การสอน
          ๔. ทดลองและตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนลงมือสอนจริง
          ๕. ทำการสอนจริงตามแผน
          ๖. เตรียมตัวเด็กให้พร้อมก่อนการลงมือทำผลงาน เช่น การแบ่งกลุ่มเด็ก การให้เด็กสวมผ้ากันเปื้อน การปฏิบัติตามข้อตกลง
          ๗. การปฏิบัติงานของเด็ก โดยมีครูเป็นผู้ดูแล แนะนำ ช่วยเหลือ ตลอดจนเขียนชื่อ และจดบันทึกข้อมูล
          ๘. การเก็บ การรักษา และการทำความสะอาด
          ๙. การประเมินผลงานเด็ก

เทคนิควิธีสอนศิลปะเด็กปฐมวัย
     การสอนศิลปะเด็กให้ดีและประสบผลสำเร็จ
  • เข้าถึง – ดูแล เอาใจใส่ ใกล้ชิดเด็กแต่ละคนอย่างเท่าเทียม
  • เข้าใจ – ความสามารถ ความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • ให้ความรัก – รักและเข้าใจ สนับสนุนและพัฒนา ช่วยเหลือ
  • สร้างสรรค์บรรยากาศ – หลากหลาย สนุกสนาน อิสระ
  • มีระเบียบวินัย – มีข้อตกลงร่วมกัน และปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยในการทำงาน
  • ปลอดภัย – คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
     การสอนให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกอย่างเสรี มีอิสระในการสร้างสรรค์งาน
  • ฝึกหัดให้เกิดการเรียนรู้ ทดลองด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก
  • เรียนรู้การวางแผนงานและแก้ไขปัญหา
  • ส่งเสริมการแสดงออกอย่างหลากหลายรูปแบบ
  • เน้นการเรียนปนเล่น
  • สนับสนุน/เน้นเรื่องคุณค่าความงาม ความดี
     หลังจากนั้นอาจารย์ได้ให้การบ้านกลับไปทำ มีทั้งหมด 4 งาน คำสั่งมีดังนี้ (การบ้าน)
  • วาดภาพต่อเติมจากเส้นที่กำหนดให้ พร้อมตกแต่งและระบายสีให้สวยงาม
  • วาดลวดลายที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละช่อง
  • วาดโครงร่างอะไรก็ได้ที่ชอบ 1 ชนิด และออกแบบลวดลายตามจินตนาการพร้อมระบายสี
  • ดูคลิปวีดีโอสอนศิลป์ที่ตนเองชอบ และประดิษฐ์สิ่งที่ดูโดยดูจากในคลิปเป็นตัวอย่าง และสร้างสรรค์ในแบบของตนเอง พร้อมอธิบายลงบล็อก
การนำไปประยุกต์ใช้
     สามารถนำความรู้ที่ได้มาเป็นหลักในการจัดกิจกรรมหรือเขียนแผนการสอน และการเตรียมการสำหรับการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย หรือลำดับขั้นตอนการสอนศิลปะเด็กปฐมวัยนำมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมให้เป็นระบบระเบียบเป็นขั้นตอนได้อย่างดี

การประเมินผล
  • การประเมินตนเอง - การแต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกระเบียบ เข้าห้องเรียนตรงต่อเวลา ตั้งใจฟังและทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่เรียน และตั้งใจทำการบ้านอย่างเต็มที่
  • การประเมินเพื่อน - การแต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกระเบียบ เพื่อนๆเฮฮา ทุกคนตั้งใจฟังเนื้อหาที่อาจารย์นำมาสอนในวันนี้
  • การประเมินอาจารย์ - การแต่งกายสะอาดสุภาพ พูดจาไพเราะ พูดคุยสนุกสนาน ชอบเล่นมุข สอนเนื้อหาดีค่ะ และให้การบ้าน มีภาพตัวอย่างมาให้ดูเพื่อเป็นแนวทางในการกลับไปทำ

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่2

บันทึกอนุทิน
วิชา การจัดประสบการณ์ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
อาจารย์ผู้สอน อาจารย์กฤตธ์ตฤณน์ ตุ๊หมาด
วัน/เดือน/ปี  21-22 มกราคม พ.ศ.2558
ครั้งที่ 2 กลุ่มเรียน 102
เวลาเข้าเรียน 08:30 - 10:10 น. ห้อง 442 และเวลา 12:20 - 15:00 น. ห้อง 223

กิจกรรมวันที่ 1
     อาจารย์แจกกระดาษให้คนละ 1 แผ่น วันนี้อาจารย์ให้นักศึกษาทำกิจกรรมวาดภาพระบายสี
คำสั่ง : วาดภาพหัวข้อ "มือน้อยสร้างสรรค์" พร้อมอธิบายถึงรายละเอียดการทำ (อาจารย์ต้องการให้สร้างสรรค์การระบายสีช่องละสี)

    ภาพลายเส้นเค้าโครงมือ                  ภาพลงเส้นตัดขอบให้เด่นชัด
     ภาพซ้ายมือ - เมื่อวาดภาพมือเสร็จตามความพอใจของเราแล้ว (ให้เส้นตัดกัน)
     ภาพขวามือ - .ใช้เมจิกสีดำลากเส้นตัดขอบภาพที่วาดเพื่อความเด่นชัดขึ้น
ชื่อผลงาน Colorful
   

   



     การระบายสี - ระบายลงในช่องที่เป็นส่วนของภาพมือที่วาดเท่านั้น และแต่ละช่องลงสีที่ไม่เหมือนกัน สีของพื้นหลังดิฉันจะระบายสีดำเพื่อให้ภาพมือเด่นชัด
ขณะที่อาจารย์กำลังอ่านชื่อผลงานของแต่ละคน

   



     อาจารย์ให้มีการนำภาพวาดไปตัดตามกรอบสี่เหลี่ยมหรือพับก็ได้ และนำมาติดเป็นเฟรมฉากหลัง (ภาพพื้นหลัง) ไว้สำหรับให้ทุกคนๆสามารถเข้าไปถ่ายรูปได้




กิจกรรมวันที่ 2
     วันนี้อาจารย์สอนในเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย มีดังนี้
     ศิลปะ แต่เดิมหมายถึง งานช่างฝีมือ เป็นงานที่มนุษย์ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วย ความประณีต วิจิตรบรรจง ฉะนั้น งานศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็น ผลงานที่มนุษย์ใช้ปัญญา ความศรัทธา และความพากเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่
  • ความงาม (ทางกาย,ทางใจ)
  • รูปทรง
  • การแสดงออก
"ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์
เพื่อให้เกิดความงาม และความพึงพอใจ"
  • Art มีรากฐานมาจาก ภาษาลาตินว่า Ars หมายถึง ทักษะ หรือ ความชำนาญ หรือ ความสามารถพิเศษ 
  • ศิลปะในภาษาไทย มาจากภาษาสันสกฤตว่า ศิลป
  • ภาษาบาลี ว่า สิปป มีความหมายว่า ฝีมืออันยอดเยี่ยม
  • สิ่งที่เด็กแสดงออกซึ่งความเจริญเติบโต ความนึกคิด ความเข้าใจ และการแปลความหมายของสิ่งแวดล้อม (โลเวนฟิลด์ และบริเตน, 1975 )
  • ศิลปะที่มองเห็นได้ ที่เรียกว่า ทัศนศิลป์ คือศิลปะสองมิติ หรือ สามมิติ แทนความรู้สึกนึกคิดของเด็กโดยตรง (วิรุณ ตั้งเจริญ , 2526)
  • งานศิลปะสำหรับเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่การวาดภาพ ระบายสี หรือการประดิษฐ์สิ่งต่างๆเท่านั้น แต่หมายถึงการแสดงออก การสื่อสาร การถ่ายทอดจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กแต่ละคน ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กและสิ่งแวดล้อม (สิริพรรณ ตันติรัตน์ไพศาล, 2545)
ปรัชญาศิลปศึกษา
  • มุ่งสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์
  • เป็นเครื่องมือในการแสดงออก และใช้ความคิดสร้างสรรค์
  • ให้ความสำคัญกับ กระบวนการสร้างสรรค์งาน
  • เน้นความไวในการรับรู้ด้านอารมณ์ ความคิดจากสิ่งที่มองเห็น
  • ความรู้สึกที่มีอยู่เบื้องหลังผลงาน
  • สนับสนุนให้เรียนรู้ ด้วยการค้นคว้า ทดลองสิ่งใหม่ๆ
  • นำไปใช้พัฒนาชีวิตด้านอื่นๆได้
ความสำคัญของศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
ตอบสนองความต้องการของเด็กปฐมวัย
     - เด็กชอบวาดรูป ขีดๆเขียนๆ
     - เด็กมีความคิด จินตนาการ
     - เด็กใช้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ที่บางครั้งไม่สามารถ พูด อธิบายได้
     - เด็กต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่
     - เด็กต้องการกำลังใจ การสร้างความเชื่อมั่น และความภาคภูมิใจ

ความสำคัญของการจัดประสบการณ์ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
  • เป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย 
          - ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม สติปัญญา
  • ช่วยจัดสรรประสบการณ์ที่มีผลต่อการเรียนรู้ให้กว้างมากขึ้น 
          - กระบวนการทางศิลปะจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตนเองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามวัย
  • ช่วยพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล ช่วยเสริมสร้าง / กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
ทฤษฎีโครงสร้างทางสติปัญญาของกิลฟอร์ด
  • นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน
  • ศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ตัวประกอบของสติปัญญา 
          - เน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์
          - ความมีเหตุผล
          - การแก้ปัญหา
ความสามารถของสมอง
กิลฟอร์ด อธิบายความสามารถของสมองออกเป็น 3 มิติ
     มิติที่ 1 เนื้อหา
  • มิติเกี่ยวกับ ข้อมูล หรือ สิ่งเร้าที่เป็นสื่อในการคิด
  • สมอง รับข้อมูลเข้าไปคิด พิจารณา 4 ลักษณะ 
          - ภาพ
          - สัญลักษณ์
          - ภาษา
          - พฤติกรรม
     มิติที่ 2 วิธีการคิด
  • มิติที่แสดงลักษณะการทำงานของสมองใน 5 ลักษณะ 
          - การรู้จัก การเข้าใจ
          - การจำ
          - การคิดแบบอเนกนัย (คิดได้หลายรูปแบบ หลากหลาย)
          - การคิดแบบเอกนัย (ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุด)
          - การประเมินค่า
     มิติที่ 3 ผลของการคิด
  • มิติที่แสดงถึงผลที่ได้จากการทำงานของสมอง จากมิติที่ 1 + มิติที่ 2 มี 6 ลักษณะ 
          - หน่วย
          - จำพวก
          - ความสัมพันธ์
          - ระบบ
          - การแปลงรูป
          - การประยุกต์

ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์ของทอร์แรนซ์ (Torrance)
  • นักจิตวิทยาและนักการศึกษาผู้มีชื่อเสียง ชาวอเมริกัน
  • เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ว่า ประกอบด้วย 
          - ความคล่องแคล่วในการคิด
          - ความยืดหยุ่นในการคิด - ความริเริ่มในการคิด
  • แบ่งลำดับขั้นการคิดสร้างสรรค์ เป็น 5 ขั้น 
          ขั้นที่ 1 ขั้นการค้นพบความจริง
          - เป็นขั้นเริ่มต้น ค้นหาสาเหตุ
          - ในการทำงานเริ่มแรก ต้องมีการคิดค้น หรือหาข้อมูลต่างๆ จะเกิดความรู้สึกกังวล สับสน วุ่นวาย แล้วค่อยๆปรับตัว พยายามคิดหาสาเหตุ ว่าสิ่งที่ทำให้กังวลใจนั้น คืออะไร
          ขั้นที่ 2 ขั้นการค้นพบปัญหา
          - เป็นขั้นที่สามารถคิดได้ และ
          - เกิดความเข้าใจแล้วว่า ปัญหาคืออะไร
          ขั้นที่ 3 ขั้นการตั้งสมมุติฐาน
          - เมื่อรู้ปัญหาว่าคืออะไรจากขั้นที่ 1 และ ขั้นที่ 2 แล้วก็พยายามคิดแก้ปัญหา
          - หาทางออกโดยการตั้งสมมุติฐาน          
          ขั้นที่ 4 ขั้นการค้นพบคำตอบ 
          - เป็นการค้นพบคำตอบจากการตั้งสมมุติฐานด้วยวิธีการต่างๆอย่างหลากหลาย
          ขั้นที่ 5 ขั้นยอมรับผลจากการค้นพบ
          - ค้นพบว่าสมมุติฐานที่ทดสอบไปในขั้นที่ 4 นั้น ได้ผลเป็นอย่างไร
          - สรุปว่าสมมุติฐานใดคือการแก้ปัญหา หรือทางออกที่ดีที่สุด

ทฤษฎีความคิดสองลักษณะ
  • เป็นทฤษฎีที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะเป็นการค้นพบความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์
  • การทำงานของสมองสองซีก ทำงานแตกต่างกัน สมองซีกซ้าย ทำงานส่วนของการคิดที่เป็นเหตุผลสมองซีกขวา ทำงานส่วนจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
  • แพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธุศรี กล่าวว่า คนเรามีสมอง 2 ซีก คือ...สมองซีกขวา ซึ่งเป็นส่วนของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาได้มากในช่วงวัย 4-7 ปี ส่วนสมองซีกซ้ายที่เป็นส่วนของการคิดที่เป็นเหตุผล จะพัฒนาในช่วง 9-12 ปี และสมองจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อเด็กอายุ 11-13 ปี
  • ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักได้รับการพัฒนาเพียงสมองซีกใดซีกหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ให้ความสนใจการทำงานของสมองอีกซีกหนึ่งเท่าที่ควร
  • นักการศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสำคัญ และสนับสนุนการทำงานของสมอง 2 ซีกอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะบรรดางานค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ งานสร้างสรรค์ศิลปะ และความคิดแปลกใหม่ ล้วนเกิดจากการทำงานของสมองซีกขวา
  • แนวคิดเกี่ยวกับการทำงานของสมองสองซีก ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาการจัดการศึกษา 
          - ผู้เรียนได้เรียนรู้และทำกิจกรรมแบบบูรณาการ
          - มีการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ หรือ 4 MAT
          - มีการทำกิจกรรมที่หลากหลาย

ทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์
  • ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาการศึกษา ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  • ศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายของสติปัญญา
  • ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญา ( ศักยภาพและความสามารถที่หลากหลายของมนุษย์ )
  • ทฤษฎีพหุปัญญา จำแนกความสามารถหรือสติปัญญาของคนเอาไว้ 9 ด้าน ได้แก่ 
          - ความสามารถด้านภาษา
          - ความสามารถด้านตรรกวิทยาแลคณิตศาสตร์
          - ความสามารถด้านดนตรี
          - ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์
          - ความสามารถด้านกีฬาและการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
          - ความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์
          - ความสามารถด้านจิตวิเคราะห์
          - ความสามารถด้านธรรมชาติศึกษา
          - ความสามารถในการคิดพลิกแพลงแตกต่างในการแก้ปัญหา

ทฤษฎีโอตา (AUTA)
     เดวิส (Davis) และซัลลิแวน (Sullivan) ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน และสามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามรูปแบบโอตา มีลำดับการพัฒนา 4 ขั้นตอน ได้แก่ การตระหนัก ความเข้าใจ เทคนิควิธี และการตระหนักในความจริงของสิ่งต่างๆ
     ขั้นตอนที่ 1 การตระหนัก  ต้องตระหนักถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ที่มีต่อตนเอง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น 
          - การพัฒนาปรีชาญาณ
          - การรู้จักและเข้าใจตนเอง
          - การมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์
          - การมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
     ขั้นตอนที่ 2 ความเข้าใจ  มีความรู้ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องต่างๆ...
          - ความรู้และเนื้อหาเรื่องบุคลิกภาพของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์
          - ลักษณะกระบวนการความคิดสร้างสรรค์
          -ทฤษฏีวามคิดสร้างสรรค์
          - เทคนิค วิธีการฝึกความคิดสร้างสรรค์
     ขั้นตอนที่ 3 เทคนิควิธี  การรู้เทคนิควิธีในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทั้งที่เป็นเทคนิคส่วนบุคคลและเทคนิคที่เป็นมาตรฐาน...
          - เทคนิควิธีการในการฝึกความคิดสร้างสรรค์
          - การระดมสมอง
          - การคิดเชิงเปรียบเทียบ
          - การฝึกจินตนาการ
     ขั้นตอนที่ 4 การตระหนักในความจริงของสิ่งต่างๆ  การรู้จักหรือตระหนักในตนเอง พอใจในตนเอง สามารถดึงศักยภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง...
          - เปิดกว้างรับประสบการณ์ต่างๆ โดยปรับตัวอย่างเหมาะสม
          - มีความคิดริเริ่มและผลิตผลงานด้วยตนเอง
          - สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม

พัฒนาการทางศิลปะ
     เคลล็อก (Kellogg) ศึกษางานขีดๆเขียนๆของเด็กปฐมวัย และจำแนกขั้นตอนออกเป็น 4 ขั้นตอน ทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของงานขีดๆเขียนๆทางศิลปะที่มีผลเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็ก 4 ขั้นตอน มีดังนี้ ขั้นขีดเขี่ย ขั้นเขียนเป็นรูปร่าง ขั้นรู้จักออกแบบ และขั้นการวาดแสดงเป็นภาพ
ขั้นที่ 1 ขั้นขีดเขี่ย (placement stage)
  • เด็กวัย 2 ขวบ
  • ขีดๆเขียนๆตามธรรมชาติ
  • ขีดเขี่ยเป็นเส้นตรงบ้าง โค้งบ้าง
  • ขีดโดยปราศจากการควบคุม
ขั้นที่ 2 ขั้นเขียนเป็นรูปร่าง (shape stage)
  • เด็กวัย 3 ขวบ
  • การขีดๆเขียนๆเริ่มเป็นรูปร่างขึ้น
  • เขียนวงกลมได้
  • ควบคุมมือกับตาให้สัมพันธ์กันมากขึ้น
ขั้นที่ 3 ขั้นรู้จักออกแบบ (design stage)
  • เด็กวัย 4 ขวบ
  • ขีดๆเขียนๆที่เป็นรูปร่างเข้าด้วยกัน
  • วาดโครงสร้างหรือเค้าโครงได้
  • วาดสี่เหลี่ยมได้


ขั้นที่ 4 ขั้นการวาดแสดงเป็นภาพ (pictorial stage)
  • เด็กวัย 5 ขวบขึ้นไป
  • เริ่มแยกแยะวัตถุที่เหมือนกับมาตรฐานของผู้ใหญ่ได้
  • รับรู้ความเป็นจริง เขียนภาพแสดงถึงภาพคน/ สัตว์ได้
  • ควบคุมการขีดเขียนได้ดี
  • วาดสามเหลี่ยมได้

พัฒนาการด้านร่างกาย
     กีเซลล์และคอร์บิน สรุปพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัย ตามลักษณะพฤติกรรมทางการใช้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก ดังนี้
  • ด้านการตัด 
          - อายุ 3-4 ปี ตัดกระดาษเป็นชิ้นส่วนได้
          - อายุ 4-5 ปี ตัดกระดาษเป็นเส้นตรงได้
          - อายุ 5-6 ปี ตัดกระดาษตามเส้นโค้งหรือรูปร่างต่างๆได้
  • การขีดเขียน 
          - อายุ 3-4 ปี เขียนรูปวงกลมตามแบบได้
          - อายุ 4-5 ปี เขียนรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสตามแบบได้
          - อายุ 5-6 ปี เขียนรูปสามเหลี่ยมตามแบบได้
  • การพับ 
          - อายุ 3-4 ปี พับและรีดสันกระดาษสองทบตามแบบได้
          - อายุ 4-5 ปี พับและรีดสันกระดาษสามทบตามแบบได้
          - อายุ 5-6 ปี พับและรีดสันกระดาษได้คล่องแคล่ว หลายแบบ
  • การวาด 
          - อายุ 3-4 ปี วาดภาพคนมีศีรษะ ตา ขา ปาก
          - อายุ 4-5 ปี วาดภาพคนมีศีรษะ ตา ปาก จมูก ปาก ลำตัว เท้า
          - อายุ 5-6 ปี วาดภาพคนมีศีรษะ ตา ปาก ลำตัว เท้า จมูก แขน มือ คอ ผม

การนำไปประยุกต์ใช้
     สามารถนำความรู้จากทฤษฎีต่างๆไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆได้อย่างเหมาะสมตามวัย ในแต่ละช่วงวัยของเด็กว่าเราควรสอนอย่างไร และให้เด็กได้พัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน

การประเมินผล
  • การประเมินตนเอง - การแต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกระเบียบ เข้าห้องเรียนตรงต่อเวลา ตั้งใจทำกิจกรรมมือน้อยสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ แต่รู้สึกว่าผลงานออกมายังดูไม่ค่อยดีเนื่องจากสีไม้มีน้อย สีไม่เยอะ เลยดูสีไม่ค่อยหลากหลายสักเท่าไหร่ และเวลามีจำกัดทำให้ต้องรีบทำ ส่วนการบรรยายทฤษฏีอาจารย์อธิบายรายละเอียดดีค่ะ
  • การประเมินเพื่อน - การแต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกระเบียบ เพื่อนๆเฮฮา มีการแบ่งปันสีไม้ กบเหลาดินสอให้กัน ทุกๆคนต่างตั้งใจทำงานของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบภาพมือของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป
  • การประเมินอาจารย์ - การแต่งกายสะอาดสุภาพ พูดจาไพเราะ พูดคุยสนุกสนาน ชอบเล่นมุข หากิจกรรมดีๆมาให้นักศึกษาได้ทำเรื่อยๆ และสอนเกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยอย่างละเอียดแบบกระฉับดีมากค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่1

บันทึกอนุทิน
วิชา การจัดประสบการณ์ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
อาจารย์ผู้สอน อาจารย์กฤตธ์ตฤณน์ ตุ๊หมาด
วัน/เดือน/ปี  14-15 มกราคม พ.ศ.2558
ครั้งที่ 1ุ กลุ่มเรียน 102
เวลาเข้าเรียน 08:30 - 10:10 น. ห้อง 442 และเวลา 12:20 - 15:00 น. ห้อง 223

กิจกรรมวันที่ 1
     อาจารย์เปิด VDO เรื่อง ด.เด็ก ช.ช้าง หนังสั้นกระตุกต่อมคิด และสะท้อนภาพลักษณ์อาชีพครูและเด็กนักเรียน ให้นักศึกษาทุกคนในห้องได้ดู


     หนังเรื่องนี้จะเผยให้เห็นสิ่งเล็กน้อยของชีวิตที่ถูกกระทำในวันธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นเกือบจะทุกวันในสังคม แต่เพื่อย้ำเตือนให้เราฉุกคิดว่าพรสวรรค์และความสามารถของมนุษย์เรานั้น ได้ถูกริดรอนและบั่นทอนไปมากแค่ไหนผ่านกาลเวลาของการดำเนินชีวิตธรรมดาๆของเรา ผ่านสภาพสังคม แวดล้อมด้วยมนุษย์ที่เราเรียกอย่างสนิทปากว่าเพื่อน คนที่เราฝากอนาคตทางความรู้อย่างครูบาอาจารย์ หรือผู้คนที่เราให้ความสำคัญและเคารพนับถือ
     ดังนั้น จุดจบของเด็กชายคนนั้นจึงเดาได้ไม่ยาก ถ้าคุณครูใช้อำนาจที่เหนือกว่าอธิบายว่าเขาไม่ใช่คนวาดที่แท้จริงและปลุกปั่นให้เพื่อนในห้องให้คล้อยตามได้ขนาดนั้น สักวันความสามารถในการวาดช้างได้ก็จะถูกบั่นทอนให้เหลือเพียงในรูปของความทรงจำซึ่งไม่ได้ถูกทำให้ความสามารถนั้นเจริญเติบโตได้อีกต่อไปและถูกขัดลำไว้ด้วยความเห็นพ้องของคำว่า ส่วนรวม แม้หนังจะไม่ได้บอกจุดจบแต่เราก็เดาได้ไม่ยากมิใช่หรือ - Cr.
     หลังจากดูเสร็จอาจารย์พูดคุยถึงหนังสั้นเรื่องนี้ จากนั้นอาจารย์แจกกระดาษให้คนละ 1 แผ่น อ่านคำสั่ง วาดภาพตนเองตามจินตนาการ
                                                              กลับมาวาดเพิ่มเติม

     อาจารย์สอนเทคนิคต่างๆในการสอนเด็ก ในเวลาที่เด็กทำงานการเดินดูขณะที่เขาทำ ซึ่งครูจะได้เห็นความสามารถ ความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์จริงๆ ของเด็กแต่ละคน และไม่ว่าเด็กจะวาดออกมาแบบไหน จะแตกต่างนอกเหนือจากคำสั่งก็ไม่มีถูกผิด แล้วการที่ครูให้เด็กออกมาติดผลงานบนกระดานหน้าห้อง เรื่องการติดกระดาษ การจัดวางติดเรียงกระดาษของเด็กอาจมีหลายแบบ ตรงหรือไม่ตรงบ้าง หรือจะติดไปคนละทิศทางก็ไม่มีถูกผิดเช่นกัน ในเรื่องผลงานของเด็กก็ต้องมีการพูดคุยถามเด็กๆ เช่น "รูปนี้มีความหมายอะไรค่ะ , ทำไมถึงวาดรูปนี้" เป็นต้น

     กิจกรรมวันที่ 2 

     อาจารย์ให้แบ่งกลุ่มละ 5-6 คน ทั้งหมด 5 กลุ่ม โดยให้โจทย์ตอบคำถาม 7 ข้อ ในความคิดของนักศีกษา พร้อมตกแต่งให้สวยงาม คำถามมีดังนี้
     1.ศิลปะคืออะไร มีความสำคัญกับเด็กปฐมวัยอย่างไรบ้าง
     2.ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยในแนวคิดของนักศึกษาเป็นอย่างไร
     3.คุณลักษณะของครูปฐมวัยที่สอนศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยควรมีลักษณะอย่างไร
     4.ครูปฐมวัยควรสอนศิลปะอะไรให้กับเด็กปฐมวัย
     5.ให้นักศึกษายกตัวอย่างกิจกรรมศิลปะอะไรให้กับเด็กปฐมวัย
     6.นักศึกษาจะมีวิธีการประเมินผลงานทางศิลปะของเด็กปฐมวัยอย่างไรบ้าง
     7.นักศึกษามีความคาดหวังอะไรบ้างจากการเรียนวิชานี้

My Mind กลุ่มดิฉัน
คำตอบข้อที่ 1 ศิลปะ คือ การสร้างสรรค์ผลงานโดยผลงานที่สร้างขึ้นมานั้นออกมาจากจินตนาการความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นๆ มีความสำคัญกับเด็กปฐมวัย คือ ช่วยส่งเสริมจินตนาการของเด็กเพื่อให้เด็กได้มีการแสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์และได้พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
คำตอบข้อที่ 2 ศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย คือ การสร้างสรรค์ชิ้นงานตามจินตนาการแบบไม่มีผิดไม่มีถูก และได้สร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่แตกต่างจากคนอื่น
คำตอบข้อที่ 3 -ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน
                      -ยอมรับในผลงานของเด็ก ซึ่งผลงานของเด็กแต่ละคนไม่มีถูกไม่มีผิด
                      -ครูต้องไม่ปิดกั้นความคิดของเด็ก
                      -ครูต้องไม่อยู่เฉย ควรเดินดูเพื่อให้เห็นพฤติกรรมและกระบวนการต่างๆที่เด็กลงมือกระทำ
คำตอบข้อที่ 4                   เส้น                                                         สี
                                  ตัวเลข                                           รูปร่าง
คำตอบข้อที่ 5 ปั้น ฉีก ตัด แปะ นับ วาด เป่า พิมพ์ภาพ ฯลฯ
คำตอบข้อที่ 6 ดูที่กระบวนการในการทำงานและผลงานของเด็กว่ามีความตั้งใจทำงานหรือเปล่าและไม่ควรประเมินผลงานเด็กจากความสวยงาม
คำตอบข้อที่ 7 หวังว่าจะได้ความรู้ในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กที่มีความหลากหลายในการทำกิจกรรมในห้องเรียนไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมจินตนาการของเด็ก

ขณะนำเสนอทั้ง 5 กลุ่ม
การนำไปประยุกต์ใช้
     การเป็นครูที่ดี เวลาจัดกิจกรรมต้องคอยเดินดูเด็กขณะทำ ดูกระบวนการในการทำงานและผลงานของเด็กว่ามีความตั้งใจทำงานหรือเปล่าและไม่ควรประเมินผลงานเด็กจากความสวยงาม และการจัดกิจกรรมศิลปะที่หลากหลายให้เด็กได้พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน

การประเมินผล
  • การประเมินตนเอง - การแต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกระเบียบ เข้าห้องเรียนตรงต่อเวลา ชอบ VDO ด.เด็ก ช.ช้าง รู้สึกเขาสื่อออกมาให้เห็นว่าครูไทยบางส่วนมีการสอนที่ผิด ยึดติดกับแค่ว่าเด็กอายุน้อยไม่สามารถวาดอะไรได้สวย คือไม่รู้จักศักยภาพ ความแตกต่างของเด็กนั้น และตอนทำกิจกรรมวาดภาพตนเองตามจินตนาการตั้งใจวาดมาก ถึงจะไม่คล้าย หรือสวยเท่าไหร่เพราะเวลามีจำกัด แต่จุดเด่นของตัวเองคือผมหน้าม้า พอใจในผลงานของตนเองค่ะ
  • การประเมินเพื่อน - การแต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกระเบียบ เพื่อนๆเฮฮา ตอนวาดภาพตนเองทุกคนต่างก็ตั้งใจวาดกันมาก บางคนก็วาดเหมือนตัวตนมาก พอดูแล้วใช่เลย และมีการตั้งชื่อภาพที่มาที่ไปด้วย
  • การประเมินอาจารย์ - การแต่งกายสะอาดสุภาพ พูดจาไพเราะ เป็นกันเอง พูดคุยสนุกสนาน มีการสอนเทคนิคต่างๆ นำ VDO หนังสั้นมาให้ดูซึ่งมีสาระมาก ทำให้ได้ข้อคิดหลายๆอย่าง เมื่อนักศึกษาทำกิจกรรมเสร็จก็มีการพูดคุยให้ความสำคัญของงานเด็กๆ ถามที่มาที่ไป